slot88

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

  โพสต์เมื่อ: วันอาทิตย์ 15 มีนาคม 2015 (เข้าดู 3,319 views)
669 Views

ช่วงหน้าร้อนเทศกาลที่ขาดไม่ได้และทุกคนต้องนึกถึงก็คือประเพณีสงกรานต์จัดติดต่อกันนานถึง 3 วันเป็นวันหยุดราชการที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้อยู่กันพร้อมหน้าเพื่อร่วมสืบสานประเพณีให้สืบต่อไป ประเพณีสงกรานต์ไม่เพียงแค่ได้รับความสนใจจากคนในประเทศเท่านั้นแต่ยังได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาพักผ่อนในช่วงวันหยุดนี้หลายล้านคน นอกจากนี้คนไทยยังถือว่าประเพณีสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นประเพณีโบราณที่เรียกวันแรกของประเพณีนี้ว่าวันมหาสงกรานต์ วันเนาและวันเถลิงศกตามลำดับ  เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทราบความแตกต่างของการจัดงานประเพณีนี้ในแต่ละภาคของประเทศอะเมสซิ่งไทยทัวร์ จึงได้รวบรวมข้อมูลของทุกภาคมาให้นักท่องเที่ยวได้อ่านกันไปพลางๆ ก่อน

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

เรียบเรียงข้อมูลโดย อะเมสซิ่งไทยทัวร์
ข้อมูลอ้างอิง สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
สนับสนุนภาพโดย digicontents

ภาคกลาง
สงกรานต์เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ โดยคนภาคกลางจะถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ของคนไทย ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านทั้งหลังให้สะอาดก่อนถึงวันงานและยังจัดเตรียมข้าวของสำหรับการทำบุญในวันขึ้นปีใหม่นี้โดยการทำบุญจะต้องมีขนมสำหรับเทศกาลสงกรานต์ได้แก่ กาละแมและข้าวเหนียวแดงขนมทั้งสองอย่างนี้ จึงเปรียบเสมือนการย้ำเตือนให้ผู้คนนึกถึงเทศกาลสงกรานต์เพราะในสมัยก่อนผู้คนจะทำขนมสองอย่างเพื่อใช้ในโอกาสนี้เท่านั้น  นอกจากการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ที่มีสีสันสดใสและรีบตื่นขึ้นมาทำบุญในช่วงเช้ามืดแล้ววันแรกของวันกรานต์หรือวันมหาสงกรานต์ยังเป็นวันที่ทุกคนจะไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดใกล้บ้าน เลี้ยงพระบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษเพื่อแสดงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษต้นตระกูล  หลังจากเสร็จสิ้นการทำบุญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมีกิจกรรมมากมายที่จะทำในช่วงเทศกาลนี้

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

การก่อพระเจดีย์ทราย การขนทรายเข้าวัดหรือก่อพระเจดีย์ทรายพร้อมทั้งตกแต่งประดับประดาด้วยราชวัติ ธง ฉัตรและกระดาษหลากสีสันสร้างความสวยงามหรือเพื่อประกวดประชันความสมบูรณ์แบบของพระเจดีย์ทรายที่ก่อด้วยสถานที่ก่อพระเจดีย์จะแตกต่างกันไปตามที่ตั้งของวัดโดยทางวัดอาจจัดให้ก่อพระเจดีย์ที่บริเวณลานวัด หรือที่หาดทรายหากว่าที่ตั้งวัดอยู่ติดกับฝั่งแม่น้ำ จุดประสงค์ที่แท้จริงของการก่อพระเจดีย์ทรายมิใช่เพื่อความสนุกสนานเท่านั้นแต่ยังเป็นการขนทรายเข้าวัดเพื่อให้ทางวัดได้นำทรายไปบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์และคงทนมากขึ้น  การขนทรายเข้าวัดยังสามารถทำได้แม้ว่าจะไม่ใช่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยผู้ที่ประสงค์จะขนทรายเข้าวัดให้ทางวัดสามารถนำทรายไปใช้ในการสร้างวัด บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะจะมีการบอกกล่าวกันก่อนล่วงหน้าให้ผู้ที่ประสงค์จะทำบุญ ด้วยการขนทรายที่เรียกกันว่า พระทรายบรรดาศักดิ์ สามารถขนทรายมาก่อพระเจดีย์ได้ก่อนที่ทางวัดจะสร้างหรือบูรณะเสร็จ การก่อพระเจดีย์ทรายในบริเวณยังสามารถก่อเพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้ เช่น
1. ก่อในบริเวณรั้วบ้านบนกระดานที่ยกสูงด้วยเสาที่สูงเสมอรั้วบ้านจากนั้นก่อพระเจดีย์ทราย ตกแต่งให้สวยงามด้วยฉัตร ธงและกระดาษสีจากนั้นรอให้ทรายแห้งและอยู่ตัว เปรียบเสมือนศาลพระภูมิเพื่อเป็นเครื่องบูชาบ้านทำให้เกิดสวัสดิมงคล คุ้มภัยให้กับคนในบ้านทำให้บ้านอยู่เย็นเป็นสุข และก่อพระเจดีย์ทรายบนเตียงไม้ 4 ขาไม่สูงมากและมีหน้ากว้างประมาณ 15-20 นิ้วท่านั้น  ลักษณะการก่อเหมือนกับวิธีก่อนหน้านี้แต่ยกไปถวายพระที่วัดในภายหลังเสมือนการก่อพระเจดีย์ทรายในบริเวณวัดทุกประการ
2. พระทรายน้ำไหลเป็นการก่อพระเจดีย์ทรายบนแพหยวกมีจุดประสงค์ในการก่อเพื่อล้างบาปโดยจะก่อพระเจดีย์ทรายและนำไปลอยในแม่น้ำเพื่อให้เกิดผลบุญกุศลให้กับผู้ที่ทำ
หลายคนที่ยังสงสัยเกี่ยวกับความคิดริเริ่มในการก่อพระเจดีย์ทรายจึงได้สอบถามกันเรื่อยมาและทำให้ทราบว่ามีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับที่มาของการก่อพระเจดีย์ทรายนี้ได้แก่
– สมัยพุทธกาลพระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลเชิญเสด็จพระพุทธองค์ทางเรือเหตุเพราะเกิดความเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก  ผู้คนที่ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธองค์ต่างก็พากันก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า
– ช่วงคืนวันเพ็ญมีอุบาสกคนหนึ่งกำลังแล่นเรือในแม่น้ำเพราะเป็นคืนที่แสงจันทร์กระจ่างตา ทำให้อุบาสกผู้นี้มองเห็นหาดทรายเปล่งประกายล้อแสงจันทร์ ทำให้เกิดความรู้สึกนึกถึงแสงฉัพพรรณรังสีจึงรีบจอดเรือนำทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ เพื่อเป็นพุทธบูชา
การทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์  เชื่อกันว่าหากได้ปล่อยให้สัตว์เช่น ปลา นก โค กระบือ จะเปรียบเสมือนการให้ชีวิตที่จะส่งผลบุญทำให้ชีวิตสงบสุขพบแต่ความเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

การสรงน้ำพระ นิยมทำในช่วงบ่ายโดยเจ้าบ้านจะทำการทรงน้ำพระด้วยน้ำอบ น้ำปรุงหรือน้ำหอมประพรมที่พระพุทธรูปประจำบ้านพร้อมทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปที่ทางวัดอัญเชิญมาแห่ไปตามถนนเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์อย่างทั่วถึง นอกเหนือจากการสรงน้ำพระแล้วก็จะมีการรดน้ำดำหัวขอพรจากบุพการีหรือผู้สูงอายุด้วย
ตามปกติช่วงเทศกาลสงกรานต์ของภาคกลางจะมีการละเล่นพื้นเมืองให้ได้ชมหรือเข้าแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนานอีกทั้งยังมีการแสดงลิเก รำวง ลำตัดสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้คนในช่วงเทศกาลเป็นอย่างมาก

ภาคใต้
สำหรับภาคใต้เทศกาลวันสงกรานต์อยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน คนใต้จะเรียกวันสงกรานต์ว่า วันว่าง กล่าวคือในวันดังกล่าวนี้คนใต้ทุกบ้านต้องเริ่มเตรียมตัวให้พร้อมทั้งในเรื่องของอาหารการกิน ที่จำเป็นต้องจัดหาไว้ล่วงหน้าให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวีตในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพราะช่วงนี้จะงดการกระทำกิจวัตรประจำวันอย่างการออกไปจับสัตว์หรือหาผักมาประกอบอาหาร ละเว้นการสร้างบาป ทำจิตใจให้แจ่มใสปลอดโปร่ง ไม่คิดร้ายต่อใคร โดยทั่วไปค่อนข้างคล้ายกับภาคกลาง แต่จะต่างกันตรงที่การปฏิบัติตัว คำเรียกวันและความเชื่อเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

วันที่ 13 เมษายน  เรียกว่าวันส่งเจ้าเมืองเก่าหรือวันเจ้าเมืองเก่าเป็นวันที่คนภาคใต้เชื่อกันว่าเทวดาที่ปกปักรักษาเมืองจะกลับสู่สวรรค์  ชาวบ้านจึงต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือลอยเคราะห์ประหนึ่งว่าได้ฝากเคราะห์กรรมต่างๆที่ไม่ได้ฝากเจ้าเมืองเก่าไป  ในวันนี้ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน สรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่าวันว่าง ผู้คนจะเข้าวัดทำบุญตักบาตร ทำบุญเลี้ยงพระ ทำบุญอัฐิอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับพร้อมทั้งทำพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ รดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ ลูกหลานจะเข้ามารดน้ำขอพรและขอขมาในเวลาเดียวกันเสร็จจากขอพรก็จะช่วยสระผมให้ผู้ใหญ่และผลัดเปลี่ยนไปใส่เสื้อผ้าใหม่ที่เตรียมไว้ เรียกพิธีนี้อีกชื่อหนึ่งว่า สระหัววันว่าง
วันที่ 15 เมษายน ชื่อเรียกว่าคือวันรับเจ้าเมืองใหญ่หรือวันเบญจา ผู้คนจะถือว่าเป็นวันต้อนรับเจ้าเมืองคนใหม่ที่จะมาคุ้มครองดูแลเมืองแทนเจ้าเมืองเก่าที่กลับไปสวรรค์ ในวันนี้ผู้คนยังคงเข้าวัดทำบุญเลี้ยงพระ ปล่อยนกปล่อยปลา ก่อพระเจดีย์ทราย เล่นสาดน้ำและการแสดงต่างๆเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินในช่วงเทศกาลวันว่าง
เฉพาะภาคใต้สมัยโบราณ ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์คณะขับร้องทำนองกลอนสดจะออกมาขับร้องเพลง เพื่อทำนายเหตุการณ์ในปีที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นอุทกภัย ภัยแล้ง น้ำท่วม ลมฟ้าอากาศ ปริมาณน้ำฝน บอกวันฤกษ์ วันชัยและวันอื่นๆล่วงหน้า พร้อมทั้งบอกด้วยว่านางสงกรานต์ในปีนี้จะมาพร้อมอาวุธแบบไหน มีภักษาหารอะไรและเสด็จมาในอิริยาบทใด ใช้พาหนะชนิดไหนในการเดินทางทั้งหมดนี้ผู้ขับร้องจะเป็นท่วงทำนองของบทกลอนและยังกล่าวให้พรแก่ผู้ที่เป็นเจ้าบ้านที่คณะขับร้องได้เดินทางผ่านด้วย

ภาคเหนือ
กำหนดวันเหมือนกับภาคกลางและภาคใต้นั่นคือเริ่มให้วันที่ 13 เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่บางคนเรียกว่าวันมหาสงกรานต์ ใช้ชื่อเรียกวันแรก ของเทศกาลมีความหมายคือเป็นวันสิ้นสุดศักราชเก่าหรือวันส่งท้ายปีเก่าบอกกล่าวถึงช่วงเวลาที่ผ่านไปอีกปีของผู้คน กิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุกปีของคนภาคเหนือคือทำความสะอาดบ้านทั้งหลังเสมือนวันสาธารณสุข แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ จุดประทัด ยิงปืน เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ตามความเชื่อและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเช่นเล่นสาดน้ำ ไปเที่ยวและทำบุญ  หากพิจารณาดูดีๆจะพบว่าภาคเหนือนั้นใช้เวลาในการจัดประเพณีสงกรานต์มากกว่าภาคอื่นถึง 2 วัน
วันที่สอง เรียกว่าวันเนา ผู้คนจะทำบุญเลี้ยงพระในวันนี้และพยายามทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสละเว้นการทำผิดศีลหรือสร้างบาป ในสมัยก่อนคนภาคเหนือจะถือว่าวันเนาเป็นวันที่จะต้องขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อพระเจดีย์ทรายสร้างบุญสร้างกุศลด้วย

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

วันที่สามเรียกว่าวันพญาวันหรือวันเถลิงศก คนภาคเหนือจะถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย และจะชวนทำไปทำบุญตักบาตร ทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ทำบุญอัฐิและสรงน้ำพระพุทธรูป พระพุทธเจดีย์ พระบรมธาตุและพระสงฆ์  ซึ่งการสรงน้ำพระของภาคเหนือจะต่างจากภาคอื่นตรงที่จะชาวบ้านจะสรงน้ำพระโดยใช้รางรดนำต่อท่อนำไปยังพระพุทธรูป พระพุทธเจดีย์และพระบรมธาตุ  จากนั้นจะนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ตามความเชื่อที่ว่าหากช่วยค้ำยันให้กับต้นโพธิ์ชีวิตจะยืนยาวไร้โรคภัยไข้เจ็บ เสร็จจากกิจกรรมในวัดลูกหลานจะนำดอกไม้ธูปเทียน สิ่งของเครื่องใช้และน้ำขมิ้นส้มป่อยเพื่อเข้าสู่พิธีรดน้ำดำหัวเพื่อแสดงความเคารพ กตัญญู ขอพรและขอขมาจากผู้ใหญ่โดยการเทน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่มือผู้ใหญ่และท่านก็จะตักน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่หัวลูกหลาน
วันที่สี่เรียกว่าวันปากปี คือวันเริ่มต้นของปีใหม่ปีนี้และเป็นอีกวันที่ชาวบ้านจะทำบุญใจบ้านหรือสะดือบ้านตรงบริเวณเสากล้างบ้านหรือหมู่บ้านที่อาศัยอยู่  จากนั้นจะทำพิธีบูชาท้าวจตุโลกบาลเรียกกันว่าเป็นพิธีแปลงบ้านเพื่อส่งเคราะห์บ้านซึ่งจะจุดประทัด พลุ ยิงปืน และโห่ร้องขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ออกบ้าน  เสร็จแล้วจะนิมนต์พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ประพนมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อจบพิธีส่งเคราะห์บ้านเป็นการบูชาเคราะห์ปีใหม่ในความเชื่อของคนเหนือ
วันที่ห้าเรียกว่าวันปากเดือน เป็นวันแรกของเดือนใหม่ชาวบ้าน จะส่งเคราะห์ด้วยวิธีตามความเชื่อส่วนบุคคลและจัดให้มีการละเล่นแบบพื้นบ้านแบบต่างๆ

ภาคอีสาน
ประเพณีสงกรานต์ของภาคอีสานกำหนดให้มี 3 วันได้แก่วันที่ 13-15 เมษายนซึ่งค่อนข้างใกล้เคียงกับแนวความคิดบางอย่างของภาคใต้นั่นคือในช่วงก่อนวันสงกรานต์จังหวัดที่อยู่ใกล้กับกัมพูชาจะเรียกว่าสงกรานต์ว่า ตรดสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์  ผู้รู้จะออกมาป่าวประกาศในส่วนของกำหนดของการจัดงาน บอกข้อมูลเกี่ยวกับนางสงกรานต์เช่นชื่อของนางสงกรานต์ เกณฑ์ธัญญาหาร พิรุณศาสตร์และกาลโยค พยากรณ์สถานการณ์ของปีที่จะถึงล่วงหน้าและยังบอกข้อควรปฏิบัติเนื่องในวันสงกรานต์เช่นเตือนภัยให้ผู้คนได้ระวังตัวไม่ประมาท และบอกเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกต้องและสมควรจะปฏิบัติกันต่อไปเป็นต้น

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

ประเพณีสงกรานต์ แต่ละภูมิภาค

สำหรับคนอีสาน วันสงกรานต์จะเป็นวันที่ผู้คนช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน เตรียมอาหารสำหรับทำบุญตักบาตรคลอดทั้ง 3 วัน สรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ทำบุญอัฐิที่เรียกกันว่าซักอนิจจาหรือชักอนิจจา การเดินทางไปเยี่ยมผู้ใหญ่เพื่อรดน้ำดำหัวขอพรพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใส่เสื้อผ้าใหม่หลังรดน้ำเสร็จในระหว่างนี้เด็กๆและหนุ่มสาวจะเล่นสาดน้ำกันรวมถึงการก่อพระเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยบ้าน มีการเล่นเรือตรดหรือรำตรุษในบางหมู่บ้านนั่นคือการเดินร้องรำตามจังหวัดดนตรีจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง  เนื้อร้องจะเกี่ยวกับการอวยพรเจ้าบ้าน บอกเล่าความสำคัญของวันตรุษสงกรานต์  เมื่อถึงวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์ชาวบ้านจะรวมตัวกันทำบุญหมู่บ้าน ทำบุญตักบาตร นิมนต์พระสงฆ์มาประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลและขับไล่สิ่งชั่วร้าย

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าประเพณีสงกรานต์มิได้เป็นเพียงวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยเท่านั้นแต่ยังเป็นวันที่ลูกหลานจะได้แสดงความเคารพ กตัญญูต่อผู้ใหญ่และบรรพบุรุษ  เป็นวันรวมญาติที่ทุกคนในครอบครัวจะมาอยู่พร้อมหน้ากันเพื่อร่วมกันทำบุญและในวันแรกของเดือนและของปีด้วยจิตใจที่แจ่มใส  ช่วยการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมให้คนรุ่นหลังได้สืบต่อกันรุ่นสู่รุ่นและย้ำเตือนให้ผู้คนได้เห็นถึงความสำคัญของประเพณีนี้  เพราะนอกจากจะเป็นวันที่คนไทยเชื่อกันว่าเป็นวันวันที่  13-15 เมษายนของทุกปีซึ่งเป็นวันสงกรานต์และเป็นวันหยุดราชการแล้วในวันที่ 13 เมษายนยังได้ชื่อว่าเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติและวันที่ 14 เมษายนก็เป็นวันแห่งครอบครัวซึ่งทั้งสองวันนี้อยู่ในช่วงเดียวกับวันสงกรานต์และเป็นโอกาสดีที่คนในครอบครัวและตระหนักและปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความเอาใจใส่และความเข้าใจเพื่อต้อนรับปีใหม่ไทยด้วยกัน

สำหรับกำหนดจัดงานสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาคของปี 2558 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เที่ยวสงกรานต์ 2558

แสดงความคิดเห็น:

บทความล่าสุด
5 อันดับที่เที่ยว ยอดนิยม